ราชาศัพท์ เป็นระเบียบการใช้ภาษาไทยให้สุภาพตามชั้นของบุคคลซึ่งแบ่งเป็นห้าชั้น ได้แก่ 1) พระราชา 2) เจ้านาย หรือพระราชวงศ์ 3) พระสงฆ์ของศาสนาพุทธ 4) ข้าราชการ และ 5) สุภาพชนทั่วไป
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพมีลายพระหัตถ์ไปถึงพลเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ว่า "...ราชาศัพท์ดูเป็นคำที่ผู้เป็นบริวารชนใช้สำหรับผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่...มีเค้าจะสังเกตในคำจารึกและหนังสือเก่าเห็นได้ว่า ราชาศัพท์ใช้ในกรุงศรีอยุธยาดีกว่าที่อื่น ยิ่งเหนือขึ้นไป (หมายถึง ในสมัยก่อนอยุธยา) ยิ่งใช้น้อยลงเป็นลำดับ" โดยทรงสันนิษฐานด้วยว่า ราชาศัพท์เกิดขึ้นในอาณาจักรละโว้สมัยที่เขมรปกครอง ส่วนในประเทศไทยในนั้นน่าจะริเริ่มแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถซึ่งกวาดต้อนชาวเขมรเข้ามาเป็นชนชั้นล่างในราชอาณาจักรอยุธยามาก ราชาศัพท์ในไทยจึงเป็นคำที่ชนชั้นล่างใช้แก่ชนชั้นสูงกว่า และยังแสดงพระวิจารณ์อีกว่า "...เมื่อแรกตั้งราชาศัพท์ ภาษาที่ใช้กันในพระนครศรีอยุธยายังสำส่อน เลือกเอาศัพท์ที่เข้าใจกันมากมาใช้ และ...ในครั้งแรกจะไม่มีมากมายนัก ต่อมาภายหลังจึงคิดเพิ่มเติมขึ้นด้วยเกิดคิดเห็นว่าของเจ้าควรจะผิดกับของไพร่ให้หมด..."
พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ราชบัณฑิต มีพระปาฐกถาเรื่อง "กถาเรื่องภาษา" ว่า "...นอกจากคำพูดและวิธีพูดทั่วไปแล้ว ยังมีคำพูดและวิธีพูดสำหรับชนเฉพาะหมู่เฉพาะเหล่าอีกด้วย เช่น ราชาศัพท์ของเรา เป็นต้น ฝรั่งไม่มีราชาศัพท์เป็นคำตายตัว แต่มีวิธีพูดยกย่องชั้นพระมหากษัตริย์หรือชั้นผู้ดีเหมือนกัน แต่วิธีพูดเช่นนี้ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว โดยมากมักจะเป็นวิธีพูดอย่างสุภาพเท่านั้นเอง".
คำสุภาพ คือคำราชาศัพท์สำหรับชั้นสุภาพชน เป็นการเปลี่ยนถ้อยคำต่างๆ ให้เหมาะสมสำหรับสื่อสารกับผู้ที่อาวุโสกว่า คำสุภาพมีลักษณะทั่วไปดังนี้
ความหมายที่แท้จริงของ "คำหยาบ" หาใช่หมายถึงเฉพาะคำโลนหรือคำที่ใช้ในการกล่าวผรุสวาจาเท่านั้นไม่ ที่ถูกแล้วน่าจะเรียกว่า "คำสามัญ" มากกว่า เช่น คำว่า ตีน, กิน, เดิน, นอน ก็ไม่น่าจะเป็นคำหยาบอะไร แต่การนำคำเหล่านี้ไปใช้พูดกับผู้คนที่อาวุโสกว่า คำเหล่านั้นจะถือเป็น "คำหยาบ" ต้องเปลี่ยนใช้คำอื่น เช่น จะพูดว่า "ตีน" ก็ต้องเปลี่ยนเป็นคำว่า "เท้า" เป็นต้น [ต้องการอ้างอิงเต็ม]